วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สันติภาพสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้


********************************************************************

โดย นางสาววาลุกา เพ็งจำรัส รหัสประจำตัว 526812059

ป.โท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการปกครองท้องถิ่น

วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดภูเก็ต

บทนำ



ปัญหาความรุนแรงของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อนและเกิดความขัดแย้งเรื้อรังที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานและเชื่อมโยงสัมพันธ์กับบริบทต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นมิติทางประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรมความมั่นคง กลไกการบริหารจัดการของรัฐ โดยได้มีการเคลื่อนไหวก่อเหตุการณ์หลายรูปแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อเหตุความรุนแรงที่ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยด้วยกันโดยที่ยังไม่ปรากฏทางแก้ไขปัญหาและนำไปสู่ความสงบสันติได้อย่างเป็นรูปธรรม สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของสังคมไทย สังคมไทยประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา หลายภาษาและวัฒนธรรม สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่เชื้อชาติมลายู นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูถิ่นในชีวิตประจำวัน โดยมีภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ความแตกต่างดังกล่าวมิได้เป็นปัญหาหาต่อการอยู่ร่วมกัน ทุกคนเป็นประชาชนพลเมืองไทย กล่าวคือ มีสัญชาติไทย มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเดียวกัน รวมถึงหลักศาสนา ความเชื่อ ความศรัทธาที่เป็นวิถีชีวิตของมุสลิมด้วย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จะต้องเข้าใจและสร้างพลังความร่วมมือ สนับสนุนการแก้ไขปัญหา โดยเคารพความแตกต่างของคนในสังคมไทย เพื่อนำพาความสงบสุขและสันติสุข กลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน



ประวัติศาสตร์และความเป็นมา

ราชอาณาจักรไทยประกอบขึ้นด้วยดินแดนที่เคยเป็นรัฐโบราณและหัวเมืองต่าง ๆในอดีตผนวกรวมกันขึ้นเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีอาณาเขตพรมแดนที่แน่นอน แต่เนื่องจากความเข้มแข็งของผู้ปกครองในแต่ละยุคสมัย รวมทั้งปฏิสัมพันธ์กับรัฐเพื่อนบ้านและความพยายามที่จะเป็นอิสระของหัวเมืองต่าง ๆ ที่เคยมีอิสรภาพมาแต่เดิม ทำให้พัฒนาการของราชอาณาจักรไทยแต่ละยุคแต่ละสมัยต้องเผชิญกับพลังอำนาจทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลังยุคสมัยการขยายอาณานิคมของชาติตะวันตกมีข้อตกลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานภาพของรัฐต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ แต่ได้เกิดความไม่พอใจและปฏิกิริยาของกลุ่มการเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มยังคงดำรงอยู่และมีความเคลื่อนไหวเป็นระยะ ๆ การเรียนรู้ความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเปิดกว้างให้รับรู้ว่าความจริงเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรไทย ย่อมดีกว่าการปฏิเสธหรือปิดโอกาสการเรียนรู้ ซึ่งนอกจากจะสร้างทัศนะที่คับแคบให้กับพลเมืองไทยแล้วยังเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มเคลื่อนไหวกลุ่มต่าง ๆ นำไปบิดเบือนและขยายผลให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ จ นพลังการขัดแย้งอาจขยายตัวรุนแรงเกินกว่าที่คนไทยด้วยกันเองจะเยียวยาได้ในอนาคต ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบได้เลือกใช้ประวัติศาสตร์บางตอนให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน เช่น ฝ่ายรัฐอ้างเรื่องการเสียดินแดนเพื่อปลุกสำนึกคนไทยทั้งประเทศให้หวงแหนแผ่นดิน ขณะที่ฝ่ายเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบได้อ้างถึงรัฐปัตตานีและการทวงคืนอิสรภาพของชาวมลายูปัตตานี การใช้ประวัติศาสตร์ดังกล่าวก่อให้เกิดการเผชิญหน้าและขยายผลความขัดแย้งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว การอธิบายความจริงทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าความขัดแย้งจะยุติลงในทันที แต่ไม่ควรนำความขัดแย้งไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันไปขยายผลให้เกิดความเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก



ประเด็นปัญหาที่สำคัญความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังจากการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยอิทธิพลความคิดของการเป็นรัฐสมัยใหม่ได้กลายเป็นการเริ่มต้นของความไม่พอใจของเจ้าเมืองเก่าที่เคยมีอำนาจปกครองบริเวณเมืองปัตตานีเดิม จนกระทั่ง มีการใช้นโยบายชาตินิยมที่มีการก่อร่างและได้ตกผลึกอย่างชัดเจนในรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยในช่วงดังกล่าวก็ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ให้มีการปกครองเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบเฉพาะภายใต้การนำของหะยีสุหลงบิน อับดุลกาเดร์ ใน พ.ศ. 2490 หรือกรณีของเหตุการณ์ดุซงญอ เมื่อ พ.ศ. 2491 ซึ่งได้กลายมาเป็นเหตุการณ์ที่ถูกนำมาเป็นบทเรียนให้แก่ฝ่ายรัฐและประชาชนในพื้นที่ได้เรียนรู้ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น และได้มีหลายฝ่ายที่ศึกษาปัญหาและออกมาให้ข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาซึ่งสามารถจำแนกปัญหาด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านการเมือง กรอบความคิดหรือมุมมองของรัฐบาลต่อการกำหนดนโยบายการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา ซึ่งรัฐบาลมักมองปัญหาและกำหนดนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของกระบวนทัศน์จักรวาลนิยมแบบพุทธ (Buddhist Cosmology) เกิดเป็นนโยบายที่นอกจากไม่อาจแก้ไขปัญหาได้แล้ว ยังทำให้ปัญหาลุกลามเพิ่มขึ้น เช่น นโยบายแบบผสมกลมกลืน (assimilation) และยังเห็นได้ผ่านกลไกของรัฐในปัจจุบันในหลายกรณี นอกจากนี้แล้วปัจจัยทางศาสนาในด้านที่เกี่ยวกับอิสลามได้ถูกนำมาตีความจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตน รวมถึงการสร้างแนวร่วมจากประชาชนในพื้นที่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ต่างมองขัดกันระหว่างรัฐกับคนมุสลิมในพื้นที่ โดยฝ่ายแรกมองว่า ประวัติศาสตร์ของปัตตานีเป็นตัวอย่างของการกบฏต่อประเทศที่มีความพยายามแบ่งแยกดินแดนอยู่เสมอ ในขณะที่ฝ่ายหลังกลับมองว่าประวัติศาสตร์ของปัตตานีคือการถูกผนวกเข้าสู่รัฐไทยและเต็มไปด้วยความห้าวหาญ มีความชอบธรรมที่จะปลดแอกตนเองออกจากรัฐไทย อีกนัยหนึ่งคือเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ มากกว่าที่จะยอมให้ถูกทำลาย สำหรับความเชื่อมโยงกับกลไกของรัฐ โดยกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัญหาทวีความขัดแย้งและกลายเป็นความรุนแรงได้ โดยเกิดจากความบกพร่องของรัฐที่ไม่พยายามจะเข้าใจปัญหาและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพื้นที่ ประกอบกับความอ่อนแอของสังคมไทยที่กลายเป็นปัจจัยหนุนให้การกระทำของรัฐชอบธรรมยิ่งขึ้น

ด้านเศรษฐกิจ จากการศึกษาเรื่องชาวมลายูมุสลิมและการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา

เศรษฐกิจและสังคม กรณีศึกษาภาคใต้ตอนล่างในช่วงเวลาที่เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 ได้นำเสนอข้อมูลว่า การพัฒนาที่ผ่านมา รัฐบาลไม่สามารถดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้ เนื่องจากรัฐขาดความรู้ความเข้าใจสังคมมุสลิม โดยเฉพาะการมองเป็นสังคมปิด รัฐและคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องเข้าใจสังคมที่มีความแตกต่างด้านศาสนา สังคม และวัฒนธรรม ด้วยการเรียนรู้ เข้าใจในข้อเท็จจริงว่าคนเหล่านั้นสามารถอยู่ร่วมกันกับสังคมอื่นได้อย่างเสมอภาค บนพื้นฐานด้วยการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีรีแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน บนพื้นฐานกฎหมายรัฐธรรมนูญเดียวกัน กรณีรัฐได้อ้างถึงการใช้ภาษาไทย คนในพื้นที่ไม่นิยมใช้ภาษาในการสื่อสาร ทำให้ยากต่อการเข้าถึงและเป็นอุปสรรคของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ในสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบันชาวมลายูมุสลิมรุ่นใหม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้เป็นส่วนใหญ่ ภาษาจึงไม่ใช่ปัญหาหลัก ในทางกลับกันเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปแก้ไขปัญหาต่างหากที่ไม่พยายามศึกษาทำความเข้าใจในด้านภาษามลายู จึงทำให้เกิดปัญหาต่อการสื่อสารในชาวมลายูมุสลิมรุ่นใหม่อีกต่างหาก กลายเป็นปัญหาในตัวเองว่าในปัจจุบันสื่อสารภาษาแม่ตนเองไม่ได้ ทำให้เกิดความระแวงต่อรัฐว่า รัฐพยายามกลืน ทำให้ภาษามลายูสูญหายไปจากพื้นที่ที่ชาวมลายูต้องการรักษาไว้หากพิจารณาในกระบวนการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ยังไม่มีความสอดคล้องกับศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะแผนงานและโครงการต่าง ๆ ล้วนถูกกำหนดและตัดสินใจจากส่วนกลางทั้งสิ้น โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงทำให้ผลของการพัฒนาไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นโครงการระดับประเทศมากกว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ และยังเป็นโครงการที่มุ่งสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าการพัฒนาพื้นที่ให้เจริญก้าวทันภูมิภาคอื่น ทำให้เป็นที่วิจารณ์จากคนในพื้นที่ตลอดว่านโยบายของรัฐบาลไม่มีความจริงใจต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ แม้แต่งบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ ต่างใช้โอกาสแสวงหาผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นการขยายตัวด้านการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรม มีการขยายตัวน้อยมาก ไม่มีแหล่งรองรับแรงงานระดับล่างได้ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่จังหวัดอื่นความยากจนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการมีภาวะเจริญพันธุ์สูงและการไม่ได้รับการศึกษาในระบบสามัญเช่นเดียวกับประชากรในพื้นที่ของประเทศ หรือหากได้รับการศึกษาก็มีคุณสมบัติไม่ตรงกับงานที่มี โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัวซึ่งมีการศึกษาน้อย ทำให้ไม่สามารถหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยมุสลิมออกไปหางานทำนอกพื้นที่ และเมื่อความจนของไทยมุสลิมในพื้นที่สูงขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มอัตราส่วนภาระพึ่งพิงตามไปด้วยคือ การตกอยู่ในวังวนของการกู้หนี้ยืมสินจากเจ้าของธุรกิจหรือนายทุนอย่างไม่จบสิ้นนอกจากเรื่องความยากจนแล้ว การถูกลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ยังเป็นอีกประเด็นที่ทำให้สภาพปัญหาความขัดแย้งยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง พบว่าประชาชนในพื้นที่ขาดโอกาสในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตน เนื่องจากกฎระเบียบของรัฐและอำนาจอิทธิพลของกลุ่มทุนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการอาศัยช่องโหว่ของอำนาจรัฐเช่นเดียวกับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐมักจะเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว สิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจากการวางกฎระเบียบของรัฐโดยปราศจากการคำนึงถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมและการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงทำให้เกิดความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตามมา กล่าวโดยรวม ปัญหาความยากจนที่เกิดจากสภาพสังคมแบบปิดของคนไทยมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา ไม่ว่าจะเป็นภาวการณ์ว่างงาน ปัญหาการไร้การศึกษา ปัญหาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับลักษณะเฉพาะของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แก้ไขได้ยาก ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่เข้าใจวิธีการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างแท้จริงประกอบกับแนวทางการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติหรือสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ นั่นคือ ความไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่นซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาปิดกั้นโอกาสในการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชนกลายเป็นการลิดรอนสิทธิของชุมชนให้หมดไปจากการพิจารณาปัญหาทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 2 กรณี คือความยากจนและสิทธิชุมชนในการจัดกาทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เห็นลักษณะปัญหาร่วมกัน คือนโยบายหรือโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐ มักจะเป็นการตัดสินใจจากส่วนกลางเพียงฝ่ายเดียวโดยขาดมิติของการร่วมตัดสินใจจากประชาชนในพื้นที่ ผลที่ตามมาคือ โครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและยั่งยืนได้แล้ว ยังทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่เว้นแม้แต่ระหว่างประชาชนด้วยกัน

ด้านสังคมและวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่โดยวัฒนธรรมมลายูของคนไทยมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้คนมลายูมุสลิมในพื้นที่เลือกที่จะกำหนดอัตลักษณ์ของตนให้ต่างไปจากคนไทยตามแบบของรัฐเพราะในขณะที่ทางการใช้คำเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ไทยมุสลิมคือคนสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่คนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับเรียกตนเองว่าคนมลายู หมายถึงผู้สืบเชื้อสายมลายู เชื้อชาติมลายู Ethnic/Race และนับถือศาสนาอิสลาม จะยอมรับในการเป็นคนในสัญชาติ (Nationality) ไทย เพื่อประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อทำหนังสือเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ หรือการไปศึกษาต่อเท่านั้น ซึ่งมีนัยว่าปฏิเสธความเป็นคนไทย (เชื้อชาติไทย) ตามที่รัฐพยายามกำหนดให้ เพราะความเข้าใจของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเห็นว่าคนไทยที่มาจากคำว่าสยาม (Siam) หมายถึงคนที่นับถือศาสนาพุทธ และเข้าใจว่าภาษาไทยคือภาษาของชาวพุทธศาสนา จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนมุสลิมส่วนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่นิยมส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนสามัญของกระทรวงศึกษาธิการ ความพยายามในการสร้างความเป็นไทยให้กับคนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกลไกของรัฐในรูปแบบต่าง ๆตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีส่วนในการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จนทำให้คนมุสลิมบางส่วนปฏิเสธความเป็นคนไทยที่รัฐได้ยัดเยียดสร้างขึ้นมาคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตนเองไว้ ด้วยการใช้ภาษามลายูท้องถิ่น ศาสนาและวัฒนธรรมตามแบบอิสลาม เพื่อการเป็นมุสลิมที่ดี ในขณะที่อีกด้าน รัฐไทยพยายามใช้กลไกของตนผสมผสานกลมกลืนสังคมมลายูมุสลิมให้มีความเป็นไทยเหมือนคนส่วนใหญ่ของประเทศมากขึ้นเช่นกัน โดยผ่านการใช้กลไกของระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามเข้าไปปฏิรูปการจัดการศึกษาแบบอิสลาม หรือการเปลี่ยนชื่อสถานที่จากภาษามลายูท้องถิ่นให้เป็นภาษาไทย ด้วยความยึดมั่นและศรัทธาในอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูมุสลิมทำให้เห็นว่าเครื่องมือของการรักษาอัตลักษณ์มลายูมุสลิมคือภาษามลายูและศาสนาอิสลามแต่สำหรับคนมลายูมุสลิม ภาษามีความสำคัญในการถ่ายทอดอุดมการณ์ ความศรัทธาในศาสนา อีกนัยหนึ่งด้วย ดังที่พบว่าภาษามลายูท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการกำหนดว่าใครเป็นหรือไม่เป็นคนมลายู และเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงความทรงจำกลับไปสู่ประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของปัตตานีโดยเฉพาะในยุคที่ปัตตานีอยู่ใต้อิทธิพลของศาสนาอิสลามได้มีการนำอักษรอาหรับมาเขียนในระบบภาษามลายู ดังนั้น ภาษามลายูที่เขียนด้วยภาษาอาหรับจึงไม่เพียงมีคุณค่าในการสื่อสารเท่านั้นแต่ยังมีคุณค่าต่อศาสนา ทั้งในแง่ของการศึกษาและการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ตลอดจนพิธีกรรมต่าง ๆ ภาษามลายูจึงเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดวัฒนธรรมของคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นเกียรติภูมิของคนมลายูมุสลิมเชื้อสายมลายูเช่นเดียวกันการยึดถือหลักปฏิบัติศาสนาอิสลามเป็นเรื่องที่มุสลิมให้ความสำคัญ ไม่ว่าเป็นการทำละหมาด การถือศีลอด การบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้ ล้วนเป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับมุสลิมที่ดีครอบคลุมทั้งเรื่องการกิน การอยู่ การแต่งกาย และความประพฤติปฏิบัติต่าง ๆ เพราะฉะนั้นมุสลิมจึงต้องปฏิบัติตามกรอบของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด โดยสรุป พื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ถูกปิดทับด้วยนโยบายต่าง ๆ ของรัฐที่พยายามสร้างความเป็นไทยแก่สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้แม้ว่าปัญหาภาคใต้จะปรากฏมานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่ารัฐและสังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจในการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมจนทำให้เป็นการไม่ยอมรับความแตกต่างและกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน

ด้านการศึกษา ศาสนาอิสลามในฐานะที่เป็นสถาบันศาสนามีอิทธิพลต่อแนวทาการศึกษาของมุสลิมเป็นอย่างยิ่ง และการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่มุสลิมจำเป็นต้องเรียนรู้ โดยเฉพาการศึกษาทางศาสนาที่กำหนดว่ามุสลิมทุกคนต้องศึกษาอิสลามให้รู้และเข้าใจเพื่อการปฏิบัติและการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงหลุมฝังศพ ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าหากสนิกชนของอิสลามได้ศึกษาสรรพวิชามากเพียงใด ก็จะเกิดความซาบซึ้งต่อโองการที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์อัลกุรอานมากขึ้นเพียงนั้นเพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาตามศาสนาอิสลามในประเทศไทยแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าปอเนาะ (Pondok) เป็นสถาบันการศึกษาหนึ่งที่ดำเนินการจัดการศึกษาให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของศาสนาอิสลามและมีบทบาทในการจัดการศึกษาในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน โดยนอกจากปอเนาะจะเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนแล้ว ยังเป็นสถาบันที่ให้การสงเคราะห์ประชาคมมุสลิมไม่ว่าด้านการศึกษา การสงเคราะห์ที่อยู่อาศัยแก่ผู้ด้อยโอกาส จนเป็นที่ยอมรับนับถือ เพราะโต๊ะครูหรือครูสอนศาสนาซึ่งเป็นกลไกหลักในการถ่ายทอดความรู้ทางศาสนาอิสลามให้แก่นักเรียนในปอเนาะได้มีบทบาทต่อการสอนศาสนาอิสลามให้แก่ประชาชนทั่ว ไปอีกด้วยในด้านที่ไม่เป็นทางการ จึงเห็นได้ว่าปอเนาะเป็นสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทต่อการดำรงอยู่ของชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัญหาการจัดการสอนศาสนาของปอเนาะคือสมมติฐานของรัฐแต่เดิมที่เชื่อว่าปอเนาะเป็นอันตรายต่อความมั่น คงของชาติ ซึ่งเป็นความคิดที่อยู่บนฐานรากของสภาพการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากพิจารณาถึงท่าทีของรัฐที่มีต่อการศึกษาของปอเนาะตั้งแต่แรกเริ่มนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นความพยายามในการควบคุมบทบาทของสถาบันการศึกษาประเภทนี้เพื่อมิให้เป็นภัยต่อความมั่น คงของชาติ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาด้านสังคมหรือการเมืองที่เป็นการกดทับความเป็นมุสลิมลงจนเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งแม้ว่าในปัจจุบันรัฐสามารถเข้าไปจัดการการศึกษาของปอเนาะให้กลายสภาพมาเป็นสถาบันการศึกษาประเภทต่าง ๆ เช่นปอเนาะดั้ง เดิมซึ่งยังคงมุ่งเน้นการสอนศาสนาเพียงอย่างเดียวโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีการเรียนการสอนทั้งสายสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและการจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลาม รวมถึงการเข้าไปจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนสามัญของรัฐในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา แต่ปัญหาที่ตามมาคือการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีคุณภาพอยู่ในระดับต่ำ อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญคือนักเรียนในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนสามัญของรัฐและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในวิชาสามัญอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา เช่น ครู ปัญหาสำคัญประการต่อมา คือ รัฐยังไม่สามารถสร้างสมดุลทางความคิดกับมลายูมุสลิมให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิชาสามัญควบคู่กับการศึกษาศาสนา แม้จะปรากฏว่าผู้ปกครองได้ส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนสามัญของรัฐและในระดับประถมศึกษามากขึ้นแล้วก็ตามแต่เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาก็มีแนวโน้มชัดเจนว่าเกิดการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่กับกลุ่มคนมลายูมุสลิมเชื้อสายมลายู โดยนักเรียนไทยพุทธได้ศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมของรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชนสามัญทั่วไป ขณะที่นักเรียนไทยมุสลิมได้ศึกษาต่อในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนไทยพุทธและไทยมุสลิมที่เริ่มห่างเหินและแยกออกจากกันในที่สุด แม้ว่านักเรียนทั้งสองกลุ่มจะเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีขณะที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาสามัญเดียวกันก็ตาม เหตุผลที่เด็กมุสลิมต้องเรียนต่อในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเพราะในโรงเรียนรัฐไม่ได้ส่งเสริมการเรียนการสอนศาสนาอิสลามและภาษามลายู และเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องส่งเด็กเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเพราะไม่ต้องการปะปนกันระหว่างหญิง ชาย เหมือนกับโรงเรียนสามัญของรัฐ อันเป็นการขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม เนื่องจากเด็กเริ่มโตเป็นหนุ่มสาวจะเป็นการเสี่ยงต่อพฤติกรรมในเชิงชู้สาวความต่อเนื่องที่ตามมาก็คือ การเลือกศึกษาต่อในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามของคนเชื้อสายมลายู อาจถือเป็นนัยของการปฏิเสธความเป็นไทยที่อยู่ในแนวการศึกษาของโรงเรียนสามัญทั่ว ไปของรัฐก็เป็นได้ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยมุสลิมบางส่วนยังคงมีค่านิยมในการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในปอเนาะดั้งเดิมที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเป็นปัญหาที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าหากแนวโน้มของกระแสการกลับไปสู่หลักการของพวกนิยมความยึดมั่นถือมั่น (fundamentalism) เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือพวกสุดโต่ง ในความเป็นจริง ในหลักการอิสลามจะไม่มีซ้าย ขวา หรือสุดโต่ง แต่ทุกคนต้อเคร่งครัดตามข้อบัญญัติ ตามหลักการศาสนา คนใดที่ไม่เคร่งครัดมักจะเป็นพวกนอกรีตที่คนมุสลิมจะหันหลังให้ แม้จะมีตำแหน่งสูงเท่าใดก็ตาม เช่น นักปกครอง นักการทหาร หรือนักการเมืองมุสลิมที่ทำตัวเหลวแหลก จะถูกสังคมมุสลิมไม่ให้ความนับถือ จากกระแสความขัดแย้งทั้งในต่างประเทศและเหตุการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนไทยมุสลิมเต็มไปด้วยความรู้สึกหวาดระแวงและชิงชังในอำนาจรัฐโดยสรุป ปัญหาการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่อดีตและแม้จะมีการปรับปรุงบ้างในปัจจุบัน แต่ปรากฏว่ายังขาดความเข้าใจวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยมุสลิม โดยอยู่ภายใต้การตัดสินจากส่วนกลางที่กำหนดนโยบายบนพื้นฐานของกรอบความมั่นคงของชาติเป็นหลักจึงทำให้การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และยังกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ได้อีกด้วย

ด้านกระบวนการยุติธรรม การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตลอดจนสร้างความขัดข้องใจในหมู่ประชาชนโดยไม่มีการลงโทษแก่ผู้กระทำผิด เช่น กรณีกรือเซะและกรณีตากใบ เป็นต้น กลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษ (Culture of Impunity)และสร้างความชอบธรรมจากการกระทำดังกล่าว ด้วยเหตุผลเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่รัฐสามารถกระทำได้ แต่การรักษาความมั่นคงของมนุษย์และการรักษาสิทธิมนุษยชนก็เป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าหน้าที่รัฐจะละเมิดมิได้ ทั้งนี้ การหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นอีกกรณีหนึ่งที่แสดงถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะแม้จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กลไกของตนสืบสวนหาผู้กระทำผิด แต่รัฐบาลยังคงมีทีท่าไม่จริงจังด้วยการปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายงานของทางการเกี่ยวกับข้อมูลการสูญหายของทนายสมชายฯและการให้สัญญากับสังคมว่าจะตามหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ ก็เป็นเพียงการลดกระแสสังคมและลดแรงกดดันทางการเมืองเท่านั้นจากการที่รัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ได้กลายเป็นข้ออ้างให้กับเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เพราะหากบุคคลใดก็ตามถูกสงสัยว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือต้องสงสัยว่าได้เข้าร่วมหรือกำลังจะเข้าร่วม กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมได้ทันที แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการจนเกิดผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายของประชาชน พระราชกำหนดฯ ได้ให้ความคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับโทษทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย กล่าวได้ว่าอำนาจหน้าที่ของพระราชกำหนดฯ นี้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการบ่มเพาะวัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษของเจ้าหน้าที่รัฐให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือการแสดงให้เห็นถึงเจตนาของรัฐที่จะปกป้องการกระทำของตนเองโดยอ้างถึงความมั่นคงของชาติในทางที่ไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปัญหาที่สำคัญอีกประการคือ วัฒนธรรมอำนาจนิยมของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่าง ๆที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง หรือฝ่ายสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานร่วมกัน จึงพบว่าในทางปฏิบัติมักมีข่าวการซ้อม ทารุณกรรม หรือการบีบบังคับเอาข้อมูลจากผู้ต้องสงสัย ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาอยู่บ่อยครั้งด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่รัฐคำนึงถึงความสะดวกของตนเองเป็นสำคัญ จึงส่งผลสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ (1) การละเลยเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ (2) การใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายสืบสวนต่างไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่ทำให้มีแนวโน้มที่จะสร้างความรู้สึกหวาดระแวงและไม่ไว้ใจในอำนาจรัฐของประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐมักเกิดจากความเข้าใจผิดและความเคยชินที่ส่งผลให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ทั้งที่พบว่าความรุนแรงไม่ช่วยขจัดรากเหง้าของปัญหาได้เพราะความรุนแรงจัดการได้เป็นรายบุคคล แต่ไม่สามารถทำให้รากเหง้าของปัญหานั้นหมดไปได้เพราะเงื่อนไขของความยุติธรรมยังคงมีอยู่ จึงทำให้มี “ผู้ร้าย” เกิดขึ้นอีกมาก ความรุนแรงในพื้นที่จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้ไม่เกิดความยุติธรรมในพื้นที่ดำเนินต่อไป

โครงสร้างอำนาจชนชั้นนำจังหวัดชายแดนใต้ของปัตตานี ยะลา นราธิวาส ถูกกำหนดโดยประวัติศาสตร์อันยาวนานของการเป็นรัฐปัตตานีและเจ็ดหัวเมืองก่อนถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามตามสนธิสัญญาอังกฤษ-สยามในปี พ. ศ. 2452 จุดเปลี่ยนและพัฒนาการที่สำคัญของโครงสร้างอำนาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวและมีผลต่อพัฒนาการทางการเมืองของปัตตานีในช่วงหลัง ภาพโดยทั่วไปที่มองเห็นก็คือสังคมมลายูมุสลิมภาคใต้สามารถรักษาลักษณะพิเศษทางด้านประเพณีและสถาบันของตนเอาไว้ได้ ทั้งๆที่มีความพยายามอย่างมากโดยรัฐไทยที่จะทำให้เกิดการผสมกลมกลืน แต่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงให้ความสำคัญกับผู้นำมุสลิมของตนเอง ผู้นำเหล่านี้อาจจะแบ่งออกได้เป็นสามประเภทคือ ผู้นำเก่าตามประเพณี ผู้นำสายทางโลก และผู้นำศาสนา

ชนชั้นนำตามจารีตประเพณีของปัตตานี (Patani-Malay traditional aristocratic elites) เป็นกลุ่มผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นสูง สมาชิกสืบเชื้อสายมาจากรายาหรือเจ้าเมืองซึ่งสืบเชื้อสายมาจากผู้ที่เคยถูกแต่งตั้งมาจากรัฐบาลไทยให้เป็นผู้นำในสมัยเจ็ดหัวเมืองมลายูระหว่างปี พ.ศ. 2359-2449 ผู้นำในขณะนั้นจะคือรายาหรือเจ้า 29 คน ประกอบไปด้วย 7 คนในปัตตานี 5 คนในยะหริ่ง 4 คนในรามัน 4 คนในระแงะ 4 คนในยะลา 3 คนในสายบุรี 2 คนในหนองจิก ผู้นำกลุ่มนี้เป็นต้นสายตระกูลของชนชั้นสูงในปัตตานีในยุคร่วมสมัยหลังจากเจ้ามลายูถูกเข้าแทนที่ด้วยผู้ว่าราชการไทยและระบบการเมืองแบบโลกิยะในแบบที่แยกรัฐออกจากศาสนาของไทยในตอนต้นศตวรรษที่ยี่สิบ แต่ในขณะนั้นชนชั้นสูงมลายูยังคงมีบทบาทนำในโครงสร้างและพลังทางการเมืองของท้องถิ่น พวกเขายังเป็นผู้นำในขบวนการต่อต้านรัฐบาลไทยในยุคแรกเพราะต้องการที่จะเรียกร้องอำนาจคืนมา แต่พวกเขาประสบความล้มเหลวในการเมืองและสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไปในจำนวนมาก ชนชั้นนำเก่าจำนวนมากหนีไปลี้ภัยการเมืองอยู่กับญาติพี่น้องของตนที่ยังคงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมลายา กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ถ้าจะวิเคราะห์ในแง่ฐานทรัพยากรและต้นทุนทางการเมืองของชนชั้นนำ ชนชั้นสูงหรือผู้นำตามประเพณีของมลายูปัตตานีสูญเสียฐานทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจจึงไม่มีอำนาจ ความมั่งคั่งและบารมีเหมือนที่เคยเป็น นอกจากนี้ชนชั้นสูงบางสายก็ยังแสดงความจงรักภักดีต่อรัฐไทย ดังนั้น ชนชั้นสูงตระกูลผู้นำตามประเพณีของมลายูจึงอาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากชาวมลายูมุสลิมให้เป็นผู้นำที่มีความชอบธรรม กลุ่มชนชั้นสูงตระกูลเก่านี้ในปัจจุบันบางส่วนก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นผู้แทนราษฎร ในระบบรัฐสภา และเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ความล้มเหลวของผู้นำทางการเมืองในระบบรัฐสภายิ่งสะท้อนภาพความล้มเหลวของชนชั้นนำตามประเพณีและสายที่ยึดมั่นในทางโลก

ชนชั้นนำอีกกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญคือชนชั้นนำสายที่ยึดถือแนวทางที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือสายแนวคิดในทางโลก (secular elite) ในสังคมมลายูมุสลิม ผู้นำกลุ่มนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เป็นคนมุสลิมท้องถิ่น ตัวอย่างเช่นครูในโรงเรียน กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในปัจจุบันยังมีกลุ่มผู้นำสายการปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สมาชิกและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล พวกข้าราชการระดับล่างที่เป็นคนท้องถิ่นได้รับสถานภาพเป็นชนชั้นนำเพราะพวกเขาเป็นสมาชิกขององค์กรปกครองท้องถิ่น ระบบราชการในท้องถิ่น และพวกเขามีรายได้หรือสามารถสะสมความมั่งคั่งในระดับที่มากพอสมควร ชนชั้นนำกลุ่มนี้มีเชื้อสายมลายูและผ่านระบบการศึกษาแบบไทยทำให้ชาวบ้านโดยทั่วไปที่พูดภาษาไทยไม่ได้ต้องอาศัยความช่วยเหลือและคำแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางโลก ทางสังคมและการปกครอง เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงเวลาสิบปีนับตั้งแต่ปี 2520-2530 เป็นต้นมา บทบาทของคนมุสลิมในระบบราชการของท้องถิ่นมีมากขึ้นเพราะคนกลุ่มนี้มีส่วนร่วมมากขึ้นในกิจกรรมทางศาสนาและชุมชน ในขณะที่ชื่อเสียง การยอมรับของชนชั้นนำทางศาสนาเริ่มจะลดลงเพราะรัฐบาลไทยสามารถเพิ่มระดับการควบคุมที่มีต่อสถาบันที่สำคัญ 2 องค์กรของคนมลายูมุสลิมคือ”โรงเรียนปอเนาะและมัสยิด” แต่อย่างไรก็ตาม เอกสารการวิเคราะห์ชนชั้นนำในช่วงต้นทศวรรษปี พ.ศ. 2530 ยังระบุว่าข้าราชการที่เป็นคนมลายูมุสลิมยังไม่สามารถมีอิทธิพลต่อสังคมได้มากเท่ากับชนชั้นนำทางศาสนาเพราะพวกเขามักจะถูกมองจากคนมลายูบางส่วนว่าเป็นข้าราชการรับใช้รัฐบาลและปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบาล คนพวกนี้อาจถูกเรียกจากคนท้องถิ่นว่า “โต๊ะนา” หรือ “พวกนาย”ที่มาปกครองตน นอกจากนี้ยังมีคนกลุ่มเล็กๆอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักธุรกิจเชื้อสายมลายูซึ่งแสดงบทบาทเป็นพ่อค้าคนกลาง พ่อค้า และผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ยังอาจถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำในสายทางโลกเนื่องจากมีสถานภาพความเป็นวิชาชีพและความมั่งคั่ง คนกลุ่มเล็กๆเหล่านี้ ในปัจจุบันอาจจะมีจำนวนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่อาจจะนำชาวบ้านได้เต็มที่นักเพราะขาดชื่อเสียงเกียรติยศในสังคมท้องถิ่นที่ยังมองว่าการหาเงินแสวงหาความร่ำรวยไม่อาจจะเป็นคนที่มีสถานภาพสูงได้

บทบาทของผู้นำท้องถิ่นในที่มาจากการเลือกตั้งเป็นบทบาทที่น่าสนใจมากในโครงสร้างอำนาจท้องถิ่น ชนชั้นนำกลุ่มนี้สวนใหญ่เป็นคนที่ผ่านการศึกษาในระบบการศึกษาสามัญมิใช่สายศาสนา เราจึงอาจจะเรียกได้ว่าเป็นผู้นำในสายแนวคิดทางโลก ชนชั้นนำกลุ่มดังกล่าวมีบทบาทมากขึ้นในการเมือง การปกครองและการบริหารในปัจจุบัน จากข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในปี 2550 จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสมีองค์กรการปกครองท้องถิ่นซึ่งประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 3 แห่ง เทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาลเมือง 4 แห่ง เทศบาลตำบล 29 แห่งและองค์การบริหารส่วนตำบล 230 แห่ง รวมทั้งหมดในสามจังหวัดมีองค์กรปกครองท้องถิ่นรวม 267 องค์กร ปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีองค์กรปกครองท้องถิ่นมากที่สุดคือ 114 องค์กร รองลงมาคือนราธิวาส 89 องค์กร และยะลา 64 องค์กร ถ้านับเฉพาะผู้นำสูงสุดขององค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบันจึงมีจำนวน 267 คน คนกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้มีบทบาทมากในแต่ละพื้นที่นับตั้งแต่ตำบล อำเภอและระดับจังหวัด แต่เมือดูที่โครงสร้างทั้งหมด พิจารณาจากแต่ละตำบลมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน และรองนายกฯอีก 2 คน รวมเป็น 3 คน ประธานสภาและรองประธานสภาองค์การบริหารฯรวมกันเป็น 2 คน ในหนึ่ง อบต. จะมีผู้นำท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง 5 คน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันมีผู้นำระดับตำบลรวมแล้วประมาณ 1,150 คน เมื่อรวมกับผู้นำระดับเทศบาลทั้งเทศบาลตำบล เทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ซึ่งประกอบด้วยนายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาและรองประธานสภาเทศบาลทุกระดับตามเงื่อนไขกฎหมาย อีกจำนวน 176 คน ผู้นำท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีถึง 1,326 คน

สังคมท้องถิ่นมลายูปัตตานี ยะลาและนราธิวาสมีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นชุมชนที่เกาะติดกันอย่างแน่นเหนียวมีความใกล้ชิดกันมาก กิจกรรมส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับมัสยิดและโรงเรียนปอเนาะ ดังนั้นทุกแง่ทุกมุมของสังคม จะมีการให้ความสำคัญต่อเรื่องกิจกรรมทางศาสนาและมักจะเกี่ยวข้องกับชนชั้นนำทางศาสนา ชนชั้นนำทางศาสนายังอาจจะถูกแบ่งไปเป็นสามประเภท คือสมาชิกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สมาชิกของคณะกรรมการมัสยิด และครูสอนศาสนา คณะกรรมการอิสลามจังหวัดประกอบด้วย 15 คนซึ่งเป็นสมาชิกที่ถูกเลือกตั้งขึ้นมา รวมทั้งหมดประมาณ 45 คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้านับรวมสงขลาและสตูลด้วยอีก 30 คนจะรวมกันได้ 75 คน

แนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : จากประเด็นปัญหาความไม่สงบและลักษณะโครงสร้างอำนาจชนชั้นนำจังหวัดชายภาคแดนใต้ ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับการที่จะให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบดั้งเดิมเป็นการปกครองปกครองรูปแบบพิเศษ โดยใช้กลักการรัฐเดี่ยวแบบใหม่ ก็คือ รูปแบบการปกครองและการบริหารแบบใหม่ในที่นี้ จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่ประเทศไทยเป็น “รัฐเดี่ยว” (unitary state) ซึ่งมีหลักเหตุผลของรัฐต่างจาก“รัฐรวม (federal satet) ” หรือสหพันธรัฐ รัฐเดี่ยวคือรัฐที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางหรือมีผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอยู่ที่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ได้แก่ การมีรัฐบาลเดียว มีรัฐสภาเดียว และมีศาลสูงเพียงแห่งเดียว แต่ในรัฐเดี่ยวดังกล่าวอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลสามารถโอนหรือกระจายให้แก่องค์กรในระดับล่างของรัฐได้ แต่รัฐก็สามารถเรียกคืนอำนาจการเมืองเหล่านั้นเมื่อไรก็ได้ตามแต่ที่รัฐจะปรารถนา ในขณะเดียวกันรัฐก็สามารถกำหนดบทบาทและหน้าที่ขององค์กรในระดับล่างของรัฐได้ว่าจะให้องค์กรบริหารเหล่านั้นมีอำนาจมากน้อยเพียงใด รับฟังคำสั่งจากรัฐมากน้อยแค่ไหนและต้องปฏิบัติต่อคำสั่งของรัฐอย่างไร แนวคิดดังกล่าวแม้ว่ารัฐเดี่ยวจะมีอำนาจอธิปไตยเพียงแห่งเดียว และรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง แต่รัฐเดี่ยวก็สามารถที่จะกระจายอำนาจทางการบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการให้แก่หน่วยงานต่างๆของรัฐได้ แต่ก็สามารถเรียกคืนได้เช่นกัน นอกจากนี้รัฐเดี่ยวยังสามารถกำหนดขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐต่างๆได้ตามแต่ที่รัฐเดี่ยวต้องการ จากองค์ประกอบข้างต้นนี้เองที่เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐเดี่ยวสามารถพัฒนาไปในรูปแบบของรัฐเดี่ยวที่แตกต่างหลากหลายและนำมาสู่ลักษณะของการกระจายอำนาจของรัฐเดี่ยวในสมัยปัจจุบันที่แตกต่างจากการกระจายอำนาจของรัฐเดี่ยวในอดีต แต่ยังคงสาระสำคัญของความเป็นรัฐเดี่ยวอยู่ รูปแบบรัฐเดี่ยวแบบใหม่มีนัยสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบรัฐเดี่ยวสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของตนเองได้ให้ยึดหยุ่นและสอดคล้องกับลักษณะพิเศษทางด้านวัฒนธรรม อัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือพื้นที่ภูมิภาคโดยที่สามารถรักษาสถานภาพเดิมในการควบคุมจากส่วนกลางเอาไว้และรักษาหลักการที่ว่ารัฐเป็นอำนาจอธิปไตยเป็นหนึ่งเดียวไม่อาจจะแยกกันได้เพราะรูปแบบใหม่ดังกล่าวไม่ได้ถูกสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากความเป็นรัฐเดี่ยวให้กลายเป็นรัฐรวม (federal state) แต่อย่างใด การปรับเปลี่ยนตัวเองของรัฐ (state transformation) อาจจะหมายถึงการรักษารูปการปกครองส่วนภูมิภาคเอาไว้แต่ปรับลักษณะการควบคุมโดยตรงให้เป็นการควบคุมโดยทางอ้อมอาจจะเป็นในรูปของหน่วยงานกึ่งอิสระ (Quasi-autonomous organizations) โดยรักษาอำนาจการควบคุมไว้เหมือนเดิมแต่ก็ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้แล้วรัฐเดี่ยวแบบใหม่ยังอาจจะทำให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคมีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อประชาชนในท้องถิ่นก็อาจจะทำได้โดยเพิ่มองค์ประกอบในด้านสภาท้องถิ่น (chambers) ที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะทางตรงหรือโดยทางอ้อมก็อาจจะทำได้ จนทำให้เกิดการแบ่งมอบอำนาจ(devolution) ในรูปแบบใหม่ที่ให้อำนาจนิติบัญญัติแก่ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นไปพร้อมๆกันด้วยแนวคิดเรื่องรัฐเดี่ยวแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ประกอบกับข้อเสนอรูปแบบการปกครองพิเศษที่ผสมผสานและหลากหลาย องค์ประกอบที่สำคัญของแนวคิดการกระจายอำนาจในพื้นที่ที่มีความหลากหลายชาติพันธ์อาจจะสรุปได้ว่าเป็นเรื่องของการคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของความคิดเห็นและการยอมรับต่อรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่สมบูรณ์แบบ ตัวแบบการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธ์และศาสนา การจัดการบริการแบบธรรมาภิบาล (good goberna) อาจจะไม่ใช่เพียงแค่มองว่าคนส่วนใหญ่เป็นชาติพันธ์อะไรหรือศาสนาอะไรและแต่ละกลุ่มมีทัศนะอย่างไรเท่านั้น หากยังจะต้องพิจารณาลึกไปถึงความหลากหลายและความแปรผันของการต่อสู้เพื่อครอบครองทรัพยากรทางการเมืองแห่งสัญลักษณ์ภายในกลุ่มแต่ละกลุ่มด้วย เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยกกันภายหลังจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือรูปแบบการปกครองและการบริหารไปแล้ว การสร้างสถาบันทางการเมืองการปกครองที่มีประสิทธิผล มีความมั่นคงและยั่งยืนมิได้เกิดจากสูตรสำเร็จที่ง่ายเกินไปและมีผลในด้านลบที่ตามมาภายหลังมากจนเกินล้นต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมแนวคิดที่ได้มาจากการศึกษาก็คือการผสมผสานและบูรณาการการเมืองการปกครองท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคที่สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของการเมืองการบริหารและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งมีการจัดการทรัพยากรหรืองบประมาณของท้องถิ่นให้พอเพียงและมีประสิทธิภาพ มีทั้งองค์ประกอบพร้อมกับการกระจายอำนาจและฟื้นอำนาจอันชอบธรรมในชุมชนและสังคม โดยดึงเอาองค์ประกอบในเนื้อหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นในระดับย่อยหรือจุลภาคมาประสานกับการบริหารจัดการที่ดีหรือหลักธรรมรัฐในระดับมหภาค ในที่นี้การบริหารราชการในส่วนภูมิภาคก็ต้องมีการปรับและทำให้เกิดการจัดการที่ดีด้วย รูปแบบดังกล่าว จะดึงเอาองค์ประกอบในด้านเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และหลักคุณธรรมในทางศาสนามาร่วมกับการปกครองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในระดับย่อยคือระดับตำบล จนถึงจังหวัดและอนุภาค ในขณะที่มีองค์ประกอบในด้านการเงินการคลังและการบริหารงานที่ดีที่เกิดจากการประสานหน่วยย่อยเหล่านี้เข้าเป็นหน่วยใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างบูรณาการแห่งชาติผลที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการกระจายและบูรณาการจะทำให้เกิดการปกครองท้องถิ่นซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้ 1. หน่วยงานที่เป็นองค์กรบริหารส่วนภูมิภาคแบบใหม่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและการแก้ปัญหานโยบายในการบริหารในสามจังหวัดภาคใต้ องค์กรนี้จะเป็นที่รวมขององค์กรปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นฐานะทางกฎหมายขององค์กรนี้จะเรียกว่า “ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Southern Border Provinces Development Administration Bureau--SBPAB) ขึ้นต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีทบวง มีฐานะเทียบเท่าทบวงพิเศษ มีการปกครองส่วนกลางและการบริหารงานส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษในส่วนภูมิภาค การปกครองพิเศษที่เรียกว่า “ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีรัฐมนตรีทบวงเป็นผู้ดูแลนโยบาย มีปลัดทบวง รองปลัดทบวงและผู้อำนวยการเขตทำหน้าที่ดูแลในแต่ละพื้นที่ในฐานะข้าราชการส่วนภูมิภาคแบบพิเศษควบคู่ไปกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในทุกระดับ 2. “สมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Chamber of Southertn Border Provinces-CSBP) อันเป็นสภาประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นสภาที่ปรึกษาและกลั่นกรองนโยบายภาคประชาชนประกอบด้วยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้รู้ทางการศึกษาและวัฒนธรรม รวมทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำนาจหน้าที่สำคัญของสภานี้คือกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพิจารณากลั่นกรอง รวมทั้งรับรองจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน(subsidy) ที่ให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นฝ่ายต่างๆ รวมทั้งงบประมาณโครงการการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จากงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลที่ผ่านทางองค์กรบริหารแบบพิเศษ 3. องค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับตำบลและเทศบาลเหมือนรูปแบบเดิม มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในท้องถิ่น มีอำนาจในการเก็บภาษีและบริหารงบประมาณการคลังส่วนท้องถิ่นเต็มที่มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติ รวมทั้งเพิ่มอำนาจในการจัดการท้องถิ่นในเรื่องทางศีลธรรมวัฒนธรรมและประเพณีให้มากขึ้น เช่นการกำหนดเขตปลอดอบายมุข ตำรวจศีลธรรม ประกาศห้ามเยาวชนออกนอกบ้านในยามวิกาลเว้นแต่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย ฯลฯ การกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่นจะต้องได้รับการรับรองจากสภาผู้รู้ทางศาสนา และประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่นแบบนี้ต้องพึ่งตนเองได้ มีการบูรณาการการและมีการจัดการแบบจุดเดียวเสร็จแบบ one-stop services

4. องค์กรสภาผู้รู้ทางศาสนาในระดับตำบล ได้มาจากการเสนอชื่อและการเลือกสรรจากคณะกรรมการชุมชนผู้นำศาสนาองค์กรภาคประชาชนและสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น สภานี้เป็นที่ปรึกษาในกิจการศาสนาและศีลธรรมของสังคมขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีจุดเชื่อมต่อในแกนบริหารแบบ matrix สมาชิกที่มาจากการคัดสรรนี้ควรจะต้องเป็นกรรมการโดยตำแหน่งขององค์กรปกครองท้องถิ่นด้วยจำนวน 1 ในสามของสมาชิกสภาท้องถิ่นเพื่อให้มีอำนาจในการยับยั้งในกรณีที่ผู้นำท้องถิ่นกระทำผิดในทางนโยบายและเกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ องค์กรที่มีอยู่ที่น่าพิจารณาคือสภาวัฒนธรรมที่ในปัจจุบันมีอยู่แล้วโดยการจัดตั้งของกระทรวงวัฒนธรรมแต่องค์กรเดิมไม่มีบทบาทหน้าที่ในทางปฏิบัติมากนัก องค์กรแบบนี้มีลักษณะแบบสภาซูรอที่กล่าวถึงข้างต้นแต่มีลักษณะผสมผสานกับองค์กรด้านอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาอย่างเดียว

ข้อเสนอรูปการปกครองและบริหารแบบพิเศษเพื่อการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ : จะต้องสอดคล้องกับลักษณะพิเศษ 3 องค์ประกอบที่สำคัญของฐานชนชั้นนำแห่งอำนาจในสังคมมุสลิมปัตตานียะลาและนราธิวาส

1. การปกครองด้วยตนเองหมายความว่า การปกครองแบบที่ให้อำนาจผู้นำท้องถิ่นในการจัดการด้วยตนเอง ชนชั้นนำทางศาสนาและผู้นำท้องถิ่นควรมีอำนาจในการปกครองท้องถิ่นองค์ประกอบคือมีชนชั้นนำท้องถิ่นช่วยกันปกครองและบริหารหรือระบบสภาซูรอ ตัดสินใจโดยปรึกษาหารือร่วมกันในสภาชุมชน (deliberative democracy/dialogue) การปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจท้องถิ่นอย่างเต็มที่ เช่นการเลือกตั้งท้องถิ่นในระบบเดิมที่มีอยู่ โดยผสมผสานการเลือกตั้งและการเลือกสรรผู้นำท้องถิ่นในแบบสภาซูรอ รูปแบบที่อาจจะตามมาในอนาคตคือการใช้รูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษแบบกรุงเทพมหานครเช่นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

2. ระบบการศึกษาแบบบูรณาการ การศึกษาในทางศาสนาและสามัญโดยให้ท้องถิ่นจัดการดูแลกันเอง มีการออกพระราชบัญญัติการศึกษาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีต รัฐไทยมองว่าระบบการศึกษาดั้งเดิมของปัตตานีเป็นตัวสร้างความเข้มแข็งของอัตลักษณ์มลายูมุสลิมปัตตานี จึงเข้ามาเปลี่ยนระบบการศึกษาและกดดันให้ยอมรับอัตลักษณ์แต่ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาควรจะเป็นศูนย์การสร้างอัตลักษณ์ผสมผสานหลากหลายทางวัฒนธรรมและสร้างชนชั้นนำใหม่ ระบบการศึกษาทั้งระดับตาดีกาปอเนาะและการศึกษาชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ควรเป็นระบบบูรณาการทั้งศาสนาและสายสามัญผ่านระบบการวางแผนร่วมกันในแผนยุทธศาสตร์การศึกษา และร่วมกันในการทำงานผ่านเวทีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการปกครองส่วนภูมิภาค

3. พัฒนาระบบกฎหมายอิสลามและกฎหมายตามประเพณีหรือระบบยุติธรรมทางเลือกยุติธรรมชุมชน โดยการประสานกับองค์กรสันติยุติธรรมสร้างความชอบธรรมในอำนาจการเมืองการปกครอง (Legitimate political authority) เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ออำนาจของกฎหมายส่วนการปกครองและการบริหารในระดับหมู่บ้านและชุมชนจะต้องปลอดภัยและมั่นคงด้วย ให้กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สามารถอำนวยการให้เกิดการใช้กฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกตามแนวทางเมื่อมีการกำหนดว่า “พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งบรรพ 5-6 ว่าด้วยครอบครัวและมรดกใช้บังคับตั้งแต่ 1 ตุลาคม ในปี พ.ศ. 2478 โดยให้ข้อ

บังคับสำหรับใช้ปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง ร.ศ. 120 ยังคงใช้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และสตูลอยู่ตามเดิม” และแนวทางที่มีการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี พ.ศ. 2489 แต่ไม่มีการดำเนิน

การในระยะต่อมาการมีศาลทางศาสนาอิสลามใช้บังคับต่อประชากรมุสลิมจะช่วยให้เกิดการจัดระบบการศึกษาอิสลาม การกำหนดหลักสูตรการศึกษาบูรณาการศาสนา หลักสูตรโรงเรียนตาดีกา และมีบทบาทช่วยสนับสนุนในการจัดการเรื่องเงินอิสลาม เช่นระบบเงินซากาต เป็นต้น

4. ระบบการจัดการความมั่นคงของหมู่บ้านและชุมชนแบบบูรณาการตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2551 ตามโครงสร้างใหม่ของกฎหมายฉบับนี้ผู้ใหญ่บ้านมีอายุการดำรงตำแหน่งจาถึงเกษียณอายุ 60 ปี ควรมีการปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้านให้มีความมั่นคงและมีส่วนร่วมมากขึ้น คณะกรรมการหมู่บ้านจะเป็นรูปสภาซูรอของหมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับฐานราก คณะกรรมการหมู่บ้านจะประกอบด้วยคณะกรรมการโดยตำแหน่งคือผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก องค์กรปกครองท้องถิ่นหรือองค์กรในหมู่บ้าน ส่วนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีประมาณ 10 คน ในระบบใหม่จะมีผู้นำศาสนา ผู้นำปกครองท้องถิ่นผู้นำธรรมชาติ และปลัดอำเภอเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการที่ปรึกษานี้จะต้องทำหน้าที่เหมือนสภาซูรอชุมชน โดยมีการสนับสนุนเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองท้องถิ่น และสภาประชาชนในระดับภูมิภาคที่ตั้งขึ้นมา นอกจากนี้ หน่วยการปกครองท้องที่ควรจะมีหน่วยงานในด้านความยุติธรรมชุมชนในระดับหมู่บ้านโดยการประสานของกระทรวงยุติธรรมเพื่อทำให้เกิดการยุติธรรมทางเลือกในอีกด้านหนึ่งระบบการป้องกันชุมชนจะต้องมีชุด ชรบ. และตำรวจชุมชนเพื่อสนับสนุนกระบวน

การยุติธรรมในหมู่บ้าน พร้อมกันนั้นก็จะมีที่ปรึกษาเทคนิคทางการทหารและความมั่นคงโดยทหารหน่วยเฉพาะกิจหรือชุดปฏิบัติการมวลชนของทหารมาสนับสนุนในกรณีที่มีปัญหาความมั่นคง ในกระบวนการดังกล่าว หน่วยการปกครองท้องที่เป็นฐานสนับสนุนการปกคารองท้องถิ่นและการปกครองส่วนภูมิภาคโดยขึ้นต่อจังหวัดและอำเภอในแบบเดิม แต่จะสนับสนุนในด้านการพัฒนาและความมั่นคง



สรุป ระบบการปกครองรูปแบบพิเศษต้องมีการเชื่อมโยงเป็นกลุ่มของระบบอีกหลายระบบ ได้แก่ ระบบการบริหารในพื้นที่พิเศษที่ซับซ้อนประกอบด้วยระบบผู้นำ ระบบการปกครองท้องถิ่น ระบบยุติธรรม ระบบการศึกษา ระบบราชการระบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรม ระบบการจัดการความขัดแย้งและความมั่นคงในชุมชนรวมทั้งระบบสวัสดิการสังคมบนฐานของชุมชน กลุ่มระบบเหล่านี้ต้องเกาะกันเหมือนรังนก (nested model) ที่สะท้อนการต่อสู้ทางสัญลักษณ์ มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือปลดเปลื้องสภาวะการต่อสู้แย่งชิงสัญลักษณ์เพื่อแก้ปัญหาความยุติธรรมในทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไปพร้อมๆกัน

ซึ่งจะช่วยอำนวยความยุติธรรมและแก้ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ในที่สุด

****************************************















































เอกสารอ้างอิง



ครองชัย หัตถา. “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้”. ยะลา : ศูนย์อำนวยการ

บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, 2551.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ “การกระจายอำนาจและการจัดการปกครองเขตพื้นที่พิเศษ: ศึกษาประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศญี่ปุ่น” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 29 (ฉบับพิเศษ) 2551, : หน้า 81-126

รายงานการวิจัยเรื่องการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมณ์ศรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดร. สุกรี หลังปูเต๊ะ มหาวิทยาลัยอิสลาม

http://web.parliament.go.th/parcy/sapa_db/committee-upload/8-20101015185517_001-027sum3south(15Oct.2010).pdf

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=526900

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น